โรจน์ พุทธคุณ ผู้บริหารของ MS Chonburi สโมสรอีสปอร์ตชั้นนำของไทย ไม่เห็นด้วยกับบางส่วนของร่างกฎหมายควบคุมเกม พร้อมฝากถึงผู้เกี่ยวของให้มีการออกกฎหมายควบคุมเพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเกมเติบโต

วันที่ 13 กรกฎาคม จะมีการประชุมสภาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการร่างกฎหมายอีสปอร์ต ซึ่งมีประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ การจัดแข่งเกมต้องขออนุญาติก่อน, ห้ามแข่งเกม FPS หรืออาจแบนเกมที่มีความรุนแรง และสำคัญคือ ห้ามสตรีมเมอร์สตรีมเกมเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน

“การห้ามสตรีมเกมติดต่อเกิน 2 ชั่วโมงต่อวันนั้น สำหรับผม มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นด้วยซ้ำ” โรจน์ พุทธคุณ ซีอีโอของ MS Chonburi กล่าว “เพราะการสตรีมเกม มีคนที่ทำเป็นอาชีพ แบบ Full-Time จำนวนชั่วโมงยังแปรผันตามจำนวนเงินค่าตอบแทนอีกด้วย คนที่ทำอาชีพ สตรีมเมอร์ ย่อมต้องรู้จักกำหนดตารางการทำงานของตัวเอง และเข้าใจในวิธีการทำแบบของงานนั้นๆ ดีอยู่แล้ว”

“โดยหลักการการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ควรเน้นที่การส่งเสริมเพื่อให้อุตสาหกรรมนั้นเติบโต ไม่ใช่ เป็นการออกกฎหมายเพื่อให้อุตสาหกรรมนั้นตาย”



การแบนเกมที่มีเนื้อหารุนแรงออกจากอุตสาหกรรมกีฬาอีสปอร์ต ซีอีโอ MS Chonburi กล่าวว่า “การแบนเกมรุนแรง ออกจากการแข่งขันอีสปอร์ตนั้น มันไม่สมเหตุสมผล ที่ผ่านมาเกมมักถูกมองเป็นผู้ร้ายก่อนเสมอ เมื่อมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น หลายครั้งที่ข้อกล่าวหาเหล่านั้น ไม่เป็นความจริง สิ่งที่มีผลต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น มักเกิดจากเหตุส่วนบุคคลมากกว่า”

“ผมจึงมองว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่า เกมที่มีเนื้อหารุนแรงจะสัมพันธ์กับความรุนแรงด้านอาชญากรรม อย่างที่กล่าวหากัน มันเป็นเพียงแค่ข้ออ้างของผู้ใหญ่บางคนเท่านั้นเอง ในทางกลับกัน ผมมองว่า สภาพบริบทของสังคมคือตัวแปรสำคัญมากกว่า เช่น ผู้ปกครองดูแล ให้ความรู้ ความเข้าใจ เวลา กับ เด็กๆ น้องๆ เยาวชน มากน้อยแค่ไหน การแบนเกมจึงไม่ใช่คำตอบอย่างแน่นอน”

สุดท้าย โรจน์ พุทธคุณ ได้ฝากความคิดเห็นถึงผู้เกี่ยวข้องต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า “ผมอยากให้มีการชั่งน้ำหนัก ทำการศึกษา ร่างกฎหมายอีสปอร์ตนี้ และทำความเข้าใจกับ อุตสาหกรรมอีสปอร์ตให้มากกว่านี้ เพราะยังมีข้อเรียกร้อง ที่ไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงของอุตสาหกรรม และบางข้อเรียกร้องที่อยู่บนพื้นฐานของความไม่เข้าใจ บวกกับสมมติฐานของทฤษฎีที่ยังไม่สมบูรณ์”

“การที่ใครสักคนจะเรียกร้อง หรือออกกฎหมายอะไร เขาควรต้องถามผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือไม่? ผมเชื่อว่ามีคนที่มีประสบการณ์ องค์ความรู้ และมีความเข้าใจ ในอุตสาหกรรมนี้ อีกเป็นจำนวนมาก พร้อมจะเข้ามาช่วยทำงานร่วมกัน และผลักดันให้เกิดการกฎหมายที่ตอบโจทย์กับทุกคนอย่างแท้จริง”

อ่านเพิ่ม: อย่าเพิ่งแตกตื่น! พี่แว่น Cuteboy แจงประเด็นกฎหมายควบคุมเกม